เยอรมันเจริญกว่าไทยเพราะไม่ชักเปอร์เซ็นต์ |
![]() |
![]() |
คมสัน สุริยะ
13 มีนาคม 2553
ถาม:
ในฐานะที่ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์และกำลังศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมัน ท่านคิดว่าเพราะเหตุใดประเทศเยอรมันถึงเจริญกว่าประเทศไทย
ตอบ:
เรื่องที่เห็นชัดคือประเทศเยอรมันใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการชักเปอร์เซ็นต์ ทำให้เงินไม่หายไประหว่างทาง
คุณอาจจะเคยได้ยินทฤษฎีเรื่องแท่งไอศครีม ซึ่งหมายความว่า กว่าที่งบประมาณแผ่นดินจะผ่านลงไปถึงเนื้องานจริง ๆ นั้น ได้หายไประหว่างทางไปเสียเยอะ อุปมาเหมือนไอศครีมที่อยู่บนแท่งไม้ ระหว่างทางได้ถูกผลัดกันกินเนื้อไอศครีมไปหลายรอบ มากบ้างน้อยบ้าง ทำให้ในที่สุดเมื่อมาถึงปลายทางก็เหลือแต่แท่งไอศครีมแต่ไม่มีเนื้อไอศครีมเหลือ ถึงจะเหลือก็ไม่มากนัก
ทฤษฎีนี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เพราะประเทศของเขามีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีนักการเมืองหรือใครก็ตามทำการชักเปอร์เซ็นต์ จะถูกตีแผ่จากสื่อมวลชน และโดนโจมตีจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก รวมทั้งมีโทษทางอาญาที่มีบทลงโทษรุนแรง
การใช้จ่ายเงินงบประมาณในประเทศเยอรมันจึงถึงเนื้องานจริง ๆ ดังนั้นคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่รัฐเป็นผู้จ่ายเงินซื้อนั้นจึงเรียกได้ว่าดีมาก ถนนหนทางแข็งแรงไม่พังง่าย ๆ ฟุตบาทใช้ได้นานไม่ต้องเปลี่ยน สาธารณูปโภคมีครบครัน บริการสาธารณะทำได้ฉับไวและเข้มแข็ง
บริษัทเอกชนที่ให้บริการเรื่องสาธารณูปโภคไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ เครื่องบิน ต่างก็มีความโปร่งใส่ในการใช้จ่ายเงิน ไม่มีการชักเปอร์เซ็นต์กันเองในองค์กรเช่นกัน ทำให้ยานพาหนะต่าง ๆ อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ มีความปลอดภัยสูง และให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพดีมาก
กระนั้นข้อเสียของประเทศเยอรมันก็คือการเก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก แต่เมื่อคิดว่าเงินภาษีถูกใช้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ถือได้ว่าคุ้ม
ในประเทศกำลังพัฒนาสักประเทศหนึ่ง ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล หากยังก้าวไม่พ้นการเป็น รัฐผู้รับเหมา ซึ่งผู้เป็นใหญ่ในรัฐบาลประพฤติตัวเป็นผู้รับเหมาใหญ่คอยชักเปอร์เซ็นต์ก่อนใคร ๆ แล้วมีผู้รับเหมารายย่อยคอยรับงานและชักเปอร์เซ็นต์กันเป็นทอด ๆ ประเทศนั้นก็ไม่สามารถจะเจริญก้าวหน้าไปได้ไกลนัก สังเกตได้ว่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นก็จะมีคุณภาพไม่ค่อยดี ต้องซ่อมหรือต้องเปลี่ยนบ่อย หรือแม้แต่ใช้งานไม่ได้เลย
ในประเทศไทย คุณอานันท์ ปันยารชุน เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้เจริญไปได้ แต่คิดว่าไม่ตรงจริตนักการเมืองจำนวนมาก ทำให้คุณอานันท์ไม่แคล้วถูกโจมตีจากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งพยายามลดทอนให้คำพูดเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลเป็นได้แต่ความคิดที่เลื่อนลอยจากชายที่ขึ้นชื่อว่า ผู้ดีรัตนโกสินทร์ และถูกแต่งตั้งด้วยระบอบเผด็จการทหารคนหนึ่งเท่านั้น
ท่านก็เห็นแล้วว่าตอนนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศกำลังต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจในการเป็นรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งก็อยากกลับมาเป็นหัวหน้าผู้รับเหมาเหมือนเดิม อีกฝ่ายหนึ่งก็อยากอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าผู้รับเหมาต่อไป แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้การชักเปอร์เซ็นต์หมดไปจากประเทศ เพียงแต่ใครจะได้ชักเปอร์เซ็นต์ ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ก็จะยังต้องทนกับสาธารณูปโภคที่ด้อยคุณภาพต่อไป
ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้เล่าเรื่องวีรกรรมของชาวอเมริกันที่พยายามต่อสู้เพื่อให้เป็นเอกราชจากอังกฤษได้อย่างซาบซึ้ง ตอนท้ายเรื่องเมื่อรบกันเสร็จหมดแล้วและอเมริกาได้เอกราชแล้ว กลับลงท้ายแบบน่าตกใจด้วยคำพูดที่ว่า เราต่อสู้และหลั่งเลือดชโลมแผ่นดินมาทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อ.....เราจะได้รู้ว่า....ต้องจ่ายภาษีให้ใคร
ข้อคิดจากภาพยนตร์เรื่องนั้นสะท้อนความจริงที่ว่า หากรัฐบาลนำเงินภาษีของเราไปใช้จ่ายเพื่อเรา เราก็ได้ดีไป แต่หากรัฐบาลนำเงินภาษีของเราเข้ากระเป๋าตัวเองและพรรคพวก แล้วที่เราต่อสู้กันมานั้นจะทำไปเพื่ออะไร
ถ้าใครอยากจะต่อสู้เพื่อให้ประเทศชาติเจริญ ต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้การบริหารประเทศและรัฐวิสาหกิจ มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล นั่นจะนำมาซึ่งผลได้ทางเศรษฐศาสตร์ที่จะตกถึงประชาชนอย่างเต็มที่ที่สุด
|